วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

กล้วยไข่เชื่อม


ส่วนผสม

๑.กล้วยไข่ห่ามๆ ใกล้สุก 1 หวี
๒.น้ำตาลทรายขาว 350 กรัม
๓.เกลือ 1/2 ช้อนโต๊ะ
๔.หัวกะทิ หรือใช้กะทิกล่องก็ได้ 1 กล่อง (ไว้สำหรับราดกล้วยไข่เชื่อม)
๕.ปูนแดง 1 ชช. สำหรับไว้ทำน้ำปูนใสไว้แช่กล้วย



วิธีทำ
๑.ปลอกกล้วยแล้วแช่ในน้ำปูนใส ใช้เวลาแช่ประมาณ 10-15 นาที

๒.ต้มน้ำสะอาด คิดว่าพอท่วมกล้วย 1 หวี

๓.ใส่น้ำตาลทรายขาวประมาณ 350 กรัม

๔.เมื่อแช่กล้วยกับน้ำปูนใสจนครบเวลาแล้ว ล้างออกด้วยน้ำสะอาด

๕. แล้วใส่ลงไปในน้ำเชื่อมตามข้อ 3

๖.ต้มให้เดือดแล้วลดเป็นไฟอ่อน ค่อยๆเชื่อจนกระทั่้งกล้วยไข่เริ่มใส แสดงว่าสุกดีแล้ว ให้ปิดไฟ



อ้างอิง
pun-prai.2552.จังหวัดกรุงเทพมหานคร (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://pun-prai.exteen.com/20090109/entry . 9 มกราคม 2552



กล้วยไข่เชื่อม...สูตรโบราณ

ส่วนผสม
๑.กล้วยไข่หาม   10 ผล

๒.น้ำตาลทราย   1 กิโลกรัม

๓.มะพร้าวขูด    2 ขีด

๔.เกลือป่น


วิธีทำ
๑.ใส่น้ำและน้ำตาลลงในกระทะทองเหลืองตั้งไฟต้มจนน้ำตาลละลายหมดจึงยกลง แล้วใช้ผ้าขาวบางกรอง

๒.ล้างกระทะให้สะอาดแล้วเอาน้ำตาลที่กรองแล้วใส่ลงไป ยกขึ้นตั้งไฟเคี่ยวจนเหนียวเป็นยางมะตูม

๓.ปอกกล้วยแล้วใส่ลงไปในกระทะ รอจนกล้วยเหลืองได้ที่จึงตักใส่ภาชนะที่เตรียมไว้

๔.ใช้หัวกะทิข้นๆ ประมาณ 3 ช้อน ผสมเกลือป่นเล็กน้อยราดบนกล้วยร้อนๆ จะทำให้น่าทานยิ่งขึ้น


อ้างอิง
ประทีป ทองเปลว. 2544. มงคลขนมไทย. กรุงเทพฯ. ไพลินบุ๊คเน็ต

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

วิธีแห่งความอร่อย...ของขนมไทย

วันนี้มีสูตรขนมอร่อยที่ทั้งสูตรแบบปัจจุบันและสูตรดั่งเดิมของโบราณมาให้ไปทำกันดู

วุ้นกะทิ

ส่วนผสม ตัววุ้น
๑.วุ้นผง 2 ช้อนโต๊ะ
๒.นำ้ตาลทรายขาว 1 ถ้วยตวง
๓.น้ำใบเตย,น้ำกาแฟ,หรือสีผสมอาหาร (จะใช้หรือไม่ใช่ก็ได้)

ส่วนผสมหน้าวุ้น
๑.วุ้นผล 2 ช้อนโต๊ะ
๒.น้ำมะพร้าว 2 1/2 ถ้วยตวง
๓.น้ำตาลทรายขาว 1 ถ้วยตวง
๔.หัวกะทิ 2 1/2 ถ้วยตวง
๕.แป้งข้าวโพด 2 ช้อนโต๊ะ
๖.เกลือ 1 1/2 ช้อนชา
๗.แม่พิมพ์สำหรับใส่วุ้น 



วิธีการทำ

๑.ทำตัววุ้นโดย ใส่ผงวุ้นและน้ำเปล่า ลงในกระทะทองเหลืองแล้วนำไปต้มจนผงวุ้นละลาย 

  (หมายเหตุ : สามารถใส่น้ำใบเตยเพื่อทำวุ้นกะทิใบเตยหรือ น้ำกาแฟเพื่อทำวุ้นกะทิกาแฟ หรืออาจใส่ สีผสมอาหารเพื่อให้ได้สีตามต้องการ)


๒.ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนให้ละลายดีจึงหรี่ไฟเบาลง

๓.ตักส่วนผสมตัววุ้นลงไปในแบบพิมพ์ที่เตรียมไว้ โดยหยอดให้ได้ประมาณ 3/4 ของแบบ และปล่อยไว้ให้วุ้นจับตัวพอตึง

๔.ระหว่างรอตัววุ้นแข็ง เตรียมทำหน้าวุ้นโดย ใส่ผงวุ้นและน้ำมะพร้าว ลงในกระทะทองเหลืองแล้วนำไปต้มจนผงวุ้นละลาย

๕.จากนั้นจึงใส่แป้งข้าวโพด, หัวกะทิ (ประมาณ 1/2 ถ้วยตวง) และ เกลือลงไปในส่วนผสมหน้าวุ้น คนอย่างต่อเนื่องจนส่วนผสมเข้ากัน

๖.ใส่หัวกะทิที่เหลือลงไป คนจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี จากนั้นจึงนำส่วนผสมของหน้าวุ้นไปหยอดใส่พิมพ์ให้เต็มอย่าปราณีต (พิมพ์ต้องใส่ตัววุ้นก่อน และต้องรอจน ตัววุ้นแข็งพอตึงๆก่อน มิเช่นนั้นตัววุ้นและหน้าวุ้นจะผสมกัน)

๗.เมื่อหน้าวุ้นและตัววุ้นแข็งดีแล้วก็ให้เคาะออกจากแบบ จัดใส่จานและเสริฟได้ทันที



อ้างอิง
http://www.ezythaicooking.com/free_dessert_recipes/Thai_coconut_jelly_th.html



วุ้นกะทิ...สูตรโบราณ

ส่วนผสม
๑.วุ้น 1/3 กิโลกรัม
๒.น้ำตาลปิ๊บ 1/2 กิโลกรัม
๓.มะพร้าว 1 กิโลกรัม
๔.น้ำดอกไม้สด

วิธีการทำ
๑.นำกะทิคั้นด้วนน้ำดอกไม้สด เมื่อได้แล้วเทใส่กระทะทองเหลืองตั้งไฟรอให้ร้อน จากนั้นใส่น้ำตาลลงไปคนให้น้ำตาลละลายแล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง

๒.นำวุ้นกับน้ำดอกไม้สดเทใส่กระทะตั้งไฟ รอให้ร้อนจนกระทั่งวุ้นละลายหมด

๓.จากนั้นเทกะทิสดลงไปให้หมด คนให้เข้ากัน แล้วเทใส่ถาดไว้ให้เย็น แล้วตัดเป็นชิ้นรับประทานได้



อ้างอิง
ประทีป ทองเปลว. 2544. มงคลขนมไทย. กรุงเทพฯ. ไพลินบุ๊คเน็ต

กล้วยบวชชีแบบง่ายๆ

        วันนี้ก็มีวิธีทำกลัวยบวชชีแบบง่าย สำหรับคนอยากหัดทำขนมไทย กล้วยบวชชีเป็นทางเลือกที่ง่ายๆไม่ยุ่งยากต่อการหาวัตถุดิบและไม่เสียเวลาทำมากมาย เป็นการนำเสนอในรูปแบบไม่มีสัดส่วนของส่วนผสมอยากรู้เป็นอย่างไรลองคลิ๊กเข้าไปดูในคลิปกัน...
        (แอบบอกปริมาณกล้วย ใช้ 1 หวีด ลูกไม่เล็กไม่ใหญ่นะไม่สุกมากไม่ดิบไป...)


วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ขนมไทยอร่อย...หาทานง่ายใน กทม

วันนี้ก็จะมาแนะนำร้านขนมอร่อยๆ ย่านอ่อนนุช กับ ย่านจุฬา 
        
        อ่อนนุชเป็นร้านประจำที่ได้ซื้อมาทานที่บ้านบ่อยๆ ขอบอกว่าอร่อย โดยเฉพาะ ทองหยด เม็ดขนุน รสชาดไม่หวานเกินไป ไม่ใส่สีผสมอาหาร สีของขนมขึ้นอยู่กับสีของไข่แดงในแต่ละครั้งที่ร้านที่เค้าทำ และขนมของเค้าก็ทำสดๆที่ร้านเลย 

        (แอบบอกนิดๆ มีคนชอบฝากซื้อไปทำบุญถึงต่างจังหวัด และเมื่อก่อนที่เค้ายังเอาของประเภทไข่ขึ้นเครื่องได้ก็มีคนฝากซื้อเอากับไปกินที่ต่างประเทศทุกครั้งที่เค้ามาไทยเลยนะ)  อร่อยไม่อร่อยก็ไปลองกันเลย

ร้าน ช.ศรีนุช 7734 (ป้าศรี เจ้าเก่า)
ที่อยู่ สุขุมวิท77 ตลาดอ่อนนุช ตรงข้ามบิ๊กซี สาขา อ่อนนุช  จังหวัด กรุงเทพฯ
เบอร์โทร 081-484-0054 , 080-237-8390
ประเภทขนม ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน สังขยา ขนมสาลี






อ้างอิง

Eartheaa. 2554. ร้านป้าศรี เจ้าเก่า.กรุงเทพฯ.  17 กันยายน 2554

        
       ร้านนี้คงไม่ต้องบอกกัน เป็นร้านขนมชื่อดัง มีขนมหลากหลายชนิดให้เลือก แพ็กเก็จก็สวยงามและเหมาะกับซื้อแล้วไปมอบเป็นขวัญในโอกาสต่างๆมากมาย 



อ้างอิง

http://www.chankanom.com





วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

เคล็ด การกินขนมไทยๆตาม "ธาตุ" เกิด


ธาตุดิน 
        คนที่เกิดเดือนมกราคมพฤษภาคม และกันยายน ผู้ที่มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับระบบน้ำย่อย ควรกินขนมที่มีเส้นใยและไฟเบอร์สูง ขนมไทยที่เหมาะกับคนธาตุดินได้แก่ สาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมจีบไทยตัวนก กินคู่กับผักสดๆ เป็นการเพิ่มเส้นใยอาหารให้กับร่างกาย หรือขนมที่มีส่วนผสมของผลไม้และธัญพืช เช่น ถั่วเขียวหรือถั่วแดงต้มน้ำตาล



ธาตุลม
        ผู้ที่เกิดในเดือนกุมภาพันธ์มิถุนายน และตุลาคม อาจมีบางคน ระบบภายในร่างกายมีความเป็นกรดมาก จึงควรเลี่ยงขนมที่มีส่วนผสมของกะทิ อย่าง บัวลอย ปลากริมไข่เต่า และขนมหวานประเภทแกงบวดต่างๆ ที่มักใช้กะทิในปริมาณมาก




ธาตุน้ำ 

        สำหรับคนที่เกิดเดือนมีนาคมกรกฎาคม พฤศจิกายน และธันวาคม มีความเชื่อว่า ร่างกายมีความชื้นและเย็น จึงควรเลือกขนมจำพวกให้ความร้อนแก่ร่างกาย ให้รสชาติเผ็ด ได้แก่ มันเทศต้มน้ำขิง ไข่ต้มน้ำขิง ฯลฯความเผ็ดร้อนในขนมจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ช่วยขับเหงื่อ ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้อาการจุก เสียดแน่น เฟ้อ ได้ด้วย


ธาตุไฟ
        ผู้ที่เกิดเดือนเมษายน และสิงหาคมร่างกายอาจมีระบบเผาผลาญในร่างกายดีมาก จึง เป็นที่น่าอิจฉาของคนธาตุอื่นๆ เป็นที่สุด แต่ถ้าจะเลือกขนมไทยเพื่อช่วยลดความร้อนภายในร่างกาย ได้แก่ ขนมน้ำแข็งอย่าง ลอดช่องกระท้อนลอยแก้ว ฯลฯ



อ้างอิง

พุดน้ำบุศย์. 2554. จังหวัดกรุงเทพมหานคร. (ออนไลน์) แหล่งที่มา :
 http://www.baanpud.net/forum/viewtopic.php? . 14 กันยายน 2554

เคล็ด "ไม่" ลับกับการทำขนมไทยให้อร่อย

        ขนมไทยเป็นขนมที่เราก็รู้กันว่ามีความอร่อยและในวิธีการทำก็ต้องมีความปราณีต ละเอียดอ่อนวันนี้ก็มีเคล็ดไม่ลับ การเลือกผสมที่ส่วนใหญ่ในขนมไทยของเรามักใช้กันมาบอก (อย่าลืมเอาไปใช้กันนะ)


ไข่
        ไข่สำหรับใช้ทำขนมควรล้างเปลือกไข่ให้สะอาด เวลาตอกไข่ใส่ชามจะได้ไม่มีเศษฝุ่นละอองตกลงไปปน
        อยากตีไข่จนเนื้อไข่ละเอียดเนียนข้นหรือเรียกว่าตีให้ไข่ขึ้น ไข่ควรมีอายุสัก 3 วัน ไข่ใหม่หรือเก่าไปกว่านี้จะตีอยากหน่อย
        การคัดแยกไข่แดงกับไข่ขาว ถ้าใช้ช้อนทำไม่ถนัดให้ล้างมือให้สะอาดแล้วใช้มือช้อนไข่เปลี่ยนสลับกันไปมา ขวา-ซ้าย ไข่แดงจะไม่แตกง่ายเหมือนใช้ช้อน



มะพร้าว
        มะพร้่าวที่นำมาคั้นเอากะทิผสมขนมนั้น ต้องใช้มะพร้าวแก่เท่านั้น เวลาคั้นควรคั้นกับน้ำอุ้น น้ำกะทิที่ใช้ราดขนมหรือต้มผสมกับขนม จะหวานมันกลมกล่อมหากโร่ยเกลือป่นผสมผสานด้วยสักนิด
        สำหรับขนมบางชนิดที่ต้องใช้มะพร้าวขูดเป็นฝอยโรยหน้าควรเลือกใช้มะพร้าวทึนทึก
        ส่วนมะพร้าวอ่อนนั้น จะนำมาใช้ต่อเมื่อต้องการเนื้อมะพร้าวมาผสมกับขนม เช่น สังขยามะพร้าว วุ้นมะพร้าว เป็นต้น



แป้ง
        นิยมใช้แป้งข้าวเจ้าแห้งในการทำขนมชนิดต่างๆ แต่ถ้าโม่แป้งสดได้เองอย่างสมัยก่อน ก็จะได้รสชาติขนมที่สมบูรณ์อย่างโบราณโดยแท้
        แป้งเท้ายายม่อมนั้น นิยมใช้เพื่อให้ขนมมีลักษณะใสคล้ายแป้งถั่วเขียว
        นอกจากนี้ ก็ยังมีแป้งมันสำปะหลังและแป้งข้าวเหนียวที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำขนมหวานของไทยอีกหลายๆชนิดเช่นกัน

น้ำดอกไม้
        ขนมหวานไทยโดดเด่นที่กลิ่นหอมหวานอันมากจาก "น้ำดอกไม้" ซึ่งจะใช้วิธีอย่างสมัยโบราณก็ได้ โดยการนำดอกมะลิที่เด็ดมาแต่รุ่งเช้าห้อผ้าขาวหรือในตองไว้ในตู้เย็นสักครึ่งค่อนวัน แล้วจึงนำดอกมะลิออกมา (ไม่ต้องเด็ดก้านทิ้ง) ลอยใส่โถน้ำต้มสุกปิดฝาให้มิดชิดทิ้งไว้ข้ามคืน วันรุ่งขึ้นจังค่อยใช้ผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำดอกมะลิไปไว้ปรุงผสมนกับขนม
        นอกจากดอกมะลิแล้ว คุณยังสามารถแต่งกลิ่นขนมด้วยดอกไม้หอมอีกหลายชนิด เช่น ดอกกุหลาบแช่น้ำอย่างดอกมะลิ ดอกกระดังงาเทียนอบใส่ขวดโหลแก้ว และใบเตยคั้นเอาแต่น้ำ ซึ่งจะได้กลิ่นหอมและสีเขียวนวลด้วย


สี
        ในปัจจุบันมีสีสังเคราะห์ ซึ่งสะดวกในการนำมาปรุงแต่งสีสันขนมไทยให้หลากหลายมากขึ้น การเลือกซื้อควรระวังอย่างดีเสมอว่าเลือกสีผสมอาหารที่มีเครื่องหมายรับรองโดย "องค์การอาหารและยา (อย.)" อย่างแท้จริง
        หากอยากใช้สีตามวิธีธรรมชาติอย่างโบราณก็สามารถใช้สีจากไม้ดอก ไม่ใบหลายชนิด เช่น
        
        ดอกอัญชัน นำกลีบดอกมาต้มในน้ำเดือด จะได้น้ำสีน้ำเงินสดสวยและถ้าหยดน้ำมะนาวผสมลงไปก็จะได้สีม่วงนวล

        ใบเตย นำมาโขลกให้แหลกคั้นเอาแต่น้ำ จะได้สีเขียวละมุนละไม


        ขมิ้น นำขมิ้นสดมาโขลกคั้นเอาแต่น้ำ จะได้สีเหลืองลออ


        กาบมะพร้าว นำกาบมะพร้าวมาเผาจนเกรียม โขลกให้แหลกเติมน้ำต้มสุกเล็กน้อยแล้วกรองเอาแต่น้ำ จะได้สีดำสนิท





อ้างอิง

ประทีป ทองเปลว. 2544. มงคลขนมไทย. กรุงเทพฯ. ไพลินบุ๊คเน็ต



วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ตำนานขนมไทย ตำนานของขนมอร่อย


        คำว่า "ขนม" มาจากคำว่า "ข้าวหนม" คำว่า "หนม"มีความหมายแปลว่า "หวาน" ซึ่งหมายถึงข้าวผสมกับน้ำตาลและน้ำออยผสมกัน ดังนั้นคำว่า "ข้าวหนม" เมื่อเรียกหรือออกเสียงเร็วจะกลายเป็น "ขนม" ในที่สุด
       
        ขนมไทยในยุคแรกๆ เป็นเพียงข้าวที่นำมาตำหรือโม่บดจนกลายเป็นแป้ง จากนั้นนำไปผสมกับน้ำตาลเพื่อทำเป็นขนม ต่อมาได้ผสมมะพร้าวลงไปด้วย พอเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศชาติตะวันออกและตะวันตก และได้เริ่มมีการรับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่างๆ มาดัดแปลง และมีเครื่องมือเครื่องใช้เพ่ิมมากขึ้น รวมทั้งการหาวัตถุดิบในการทำอาหารและขนมได้ง่ายขึ้น จึงมีผู้คิดค้นขนมที่หลากหลายออกมาจนแยกไม่ออกว่าขนมอะไรเป็นขนมไทยแท้
        
        ยุคที่ขนมไทยมีความหลากหลายและเฟื่องฟูที่สุดคือช่วงที่สตรีโปรตุเกส นามว่า "คัทรีน ดีทอร์ควีมา" ได้สมรสกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จนได้รับการแต่งตั้งเป็นท่านผู้หญิงวิชาเยนทร์ ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "ท้าวทองกีบม้า" ได้เข้ารับราชการในพระราชวังในตำแหน่ง "หัวหน้าห้องเครื่องต้น" ซึ่งระหว่างรับราชการนั้นท้าวทองกีบม้าได้สอนการทำขนมหวาน จำพวกทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ทองพลุ ทองโปร่ง ซึ่งเป็นขนมที่มีส่วนผสมของไข่ แล้วได้ถ่ายทอดไปยังครอบครัวต่อไป จนขนมที่ท้าวทองกีบม้าสอนนั้นได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในเวลาต่อมา จนมีคนยกย่องให้สมญานามท้าวทองกีบม้าว่าเป็น "ราชินีขนมไทย"


ขนมทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง 


ขนมทองพลุ


ขนมทองโปร่ง

        แต่ก่อนหน้าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ขนมหวานไทยเรายังมีไม่มากชนิด แต่ "ขนม 4 ถ้วย" นั้นว่ากันว่าเป็นขนมไทยแท้ๆ ที่มีมาแต่โบราณอย่างแท้จริง

    "ขนม 4 ถ้วย" คือ ลอดช่อง ข้าวตอก ข้าวเหนียว และ เม็ดแมงลัก ขนมเหล่านี้จะถูกจัดอยู่ในถ้วย เวลาจะรับประทานก็แล้วแต่ว่าใครจะตักเอาถ้วนใด หรือเอาทั้ง 4 ถ้วยมาผสมกัน จากนั้นก็ตักน้ำกะทิราดลงไป ขนม 4 ถ้วยนี้นิยมทำกันมาก 


                                                                           ลอดช่อง
                                                                                          

       หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างขนมไทยกับคนไทยก็คือวรรณคดีมรดกสุโขทัยเรื่องไตรภูมิพระร่วง ซึ่งกล่าวถึงขนมต้มที่เป็นขนมไทยชนิดหนึ่งไว้       

        ขนมไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยอยุธยา ดังปรากฎข้อความในจดหมายเหตุหลายฉบับ  บางฉบับกล่าวถึง "ย่านป่าขนม" หรือตลาดขนม บางฉบับกล่าวถึง "บ้านหม้อ" ที่มีการปั้นหมอ และรวมไปถึงกระทะ ขนมเบื้อง เตาและรังขนมครก แสดงให้เห็นว่าขนมครกและขนมเบื้องนั้น คงจะแพร่หลายมากจนถึงมีการปั้นเตาและกระทะขาย บางฉบับกล่าวถึงขนมชะมด ขนมกงเกวียนหรือขนมกง ขนมครก ขนมเบื้อง ขนมลอดช่อง จนถึงสมัยพระนารายณ์มหาราชนั้นเจริญรุ่งเรื่องมากเพราะสตรีชาวโปรตุเกสที่กล่าวไว้ข้างต้นได้เป็นผู้สอนให้แก่สาวชาววัง จนต่อมาขนมได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

ขนมเบื้อง
ขนมครก

        จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ผู้ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในสมัยเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวไว้ว่าในงานสมโภชพระแก้มรกตและฉลองวัดพระศรีรัตนสดาราม ได้มีเครื่องตั้งสำรับหวานสำหรับพระสงฆ์ 2,000 รูป ประกอบด้วย ขนมไส้ไก่ ขนมฝอย ขนมผิง กล้วยฉาบ ล่าเตียง หรุ่ม สังขยา ฝอยทอง และขนมตะไล

ขนมผิง
ล่าเตียง

        ในกาพย์ห่อโคลงเห่เรือชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้กล่าวชมเครื่องหวานหรือขนมไทยหลายชนิดด้วยกัน อาทิ ข้าวเหนียวสังขยา ขนมลำเจียก ขนมทองหยอด ขนมผิง ขนมรังไร ขนมช่อม่วง ขนมบัวลอย ฯลฯ

ข้าวเหนียวสังขยา
ขนมลำเจียก

        ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพิมพ์ตำราอาหารออกเผยแพร่ การทำขนมไทยก็เป็นหนึ่งในตำราอาหารไทยนั้น จึงนับได้ว่าการทำขนมไทยและวัฒนธรรมขนมไทย เริ่มมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างมีระเบียบในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง แม่ครัวหัวป่าก์เป็นตำราอาหารไทยเล่มแรก ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงค์ ในตำราอาหารไทยเล่มนี้ปรากฎรายการสำรับของหวานเลี้ยงพระอันประกอบด้วย ขนมทองหยิบ ขนมฝอยทอง ขนมหม้อแกง ขนมหันตรา ขนมถ้วยฟู ข้าวเหนียวแก้ว ขนมลืมกลืน วุ้นผลมะปราง ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าคนไทยนิยมทำขนมให้ในงานบุญ ซึ่งก็เป็นแบบแผนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ขนมหม้อแกง

ขนมถ้วยฟู

อ้างอิง
Administrator. 2552. จังหวัดกรุงเทพมหานคร. (ออนไลน์) แหล่งที่มา :  http://www.school.net.th/schoolnet/article/read.php?article_id=339 . 5 มีนาคม 2552

Horapa. 2553. จังหวัดกรุงเทพมหานคร. (ออนไลน์) แหล่งที่มา : http://www.horapa.com/content.php?Category=Dessert&No=376 . สิงหาคม  2553

ประทีป ทองเปลว. 2544. มงคลขนมไทย. กรุงเทพฯ. ไพลินบุ๊คเน็ต