วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ตำนานขนมไทย ตำนานของขนมอร่อย


        คำว่า "ขนม" มาจากคำว่า "ข้าวหนม" คำว่า "หนม"มีความหมายแปลว่า "หวาน" ซึ่งหมายถึงข้าวผสมกับน้ำตาลและน้ำออยผสมกัน ดังนั้นคำว่า "ข้าวหนม" เมื่อเรียกหรือออกเสียงเร็วจะกลายเป็น "ขนม" ในที่สุด
       
        ขนมไทยในยุคแรกๆ เป็นเพียงข้าวที่นำมาตำหรือโม่บดจนกลายเป็นแป้ง จากนั้นนำไปผสมกับน้ำตาลเพื่อทำเป็นขนม ต่อมาได้ผสมมะพร้าวลงไปด้วย พอเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศชาติตะวันออกและตะวันตก และได้เริ่มมีการรับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่างๆ มาดัดแปลง และมีเครื่องมือเครื่องใช้เพ่ิมมากขึ้น รวมทั้งการหาวัตถุดิบในการทำอาหารและขนมได้ง่ายขึ้น จึงมีผู้คิดค้นขนมที่หลากหลายออกมาจนแยกไม่ออกว่าขนมอะไรเป็นขนมไทยแท้
        
        ยุคที่ขนมไทยมีความหลากหลายและเฟื่องฟูที่สุดคือช่วงที่สตรีโปรตุเกส นามว่า "คัทรีน ดีทอร์ควีมา" ได้สมรสกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จนได้รับการแต่งตั้งเป็นท่านผู้หญิงวิชาเยนทร์ ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "ท้าวทองกีบม้า" ได้เข้ารับราชการในพระราชวังในตำแหน่ง "หัวหน้าห้องเครื่องต้น" ซึ่งระหว่างรับราชการนั้นท้าวทองกีบม้าได้สอนการทำขนมหวาน จำพวกทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ทองพลุ ทองโปร่ง ซึ่งเป็นขนมที่มีส่วนผสมของไข่ แล้วได้ถ่ายทอดไปยังครอบครัวต่อไป จนขนมที่ท้าวทองกีบม้าสอนนั้นได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในเวลาต่อมา จนมีคนยกย่องให้สมญานามท้าวทองกีบม้าว่าเป็น "ราชินีขนมไทย"


ขนมทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง 


ขนมทองพลุ


ขนมทองโปร่ง

        แต่ก่อนหน้าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ขนมหวานไทยเรายังมีไม่มากชนิด แต่ "ขนม 4 ถ้วย" นั้นว่ากันว่าเป็นขนมไทยแท้ๆ ที่มีมาแต่โบราณอย่างแท้จริง

    "ขนม 4 ถ้วย" คือ ลอดช่อง ข้าวตอก ข้าวเหนียว และ เม็ดแมงลัก ขนมเหล่านี้จะถูกจัดอยู่ในถ้วย เวลาจะรับประทานก็แล้วแต่ว่าใครจะตักเอาถ้วนใด หรือเอาทั้ง 4 ถ้วยมาผสมกัน จากนั้นก็ตักน้ำกะทิราดลงไป ขนม 4 ถ้วยนี้นิยมทำกันมาก 


                                                                           ลอดช่อง
                                                                                          

       หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างขนมไทยกับคนไทยก็คือวรรณคดีมรดกสุโขทัยเรื่องไตรภูมิพระร่วง ซึ่งกล่าวถึงขนมต้มที่เป็นขนมไทยชนิดหนึ่งไว้       

        ขนมไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยอยุธยา ดังปรากฎข้อความในจดหมายเหตุหลายฉบับ  บางฉบับกล่าวถึง "ย่านป่าขนม" หรือตลาดขนม บางฉบับกล่าวถึง "บ้านหม้อ" ที่มีการปั้นหมอ และรวมไปถึงกระทะ ขนมเบื้อง เตาและรังขนมครก แสดงให้เห็นว่าขนมครกและขนมเบื้องนั้น คงจะแพร่หลายมากจนถึงมีการปั้นเตาและกระทะขาย บางฉบับกล่าวถึงขนมชะมด ขนมกงเกวียนหรือขนมกง ขนมครก ขนมเบื้อง ขนมลอดช่อง จนถึงสมัยพระนารายณ์มหาราชนั้นเจริญรุ่งเรื่องมากเพราะสตรีชาวโปรตุเกสที่กล่าวไว้ข้างต้นได้เป็นผู้สอนให้แก่สาวชาววัง จนต่อมาขนมได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

ขนมเบื้อง
ขนมครก

        จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ผู้ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในสมัยเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวไว้ว่าในงานสมโภชพระแก้มรกตและฉลองวัดพระศรีรัตนสดาราม ได้มีเครื่องตั้งสำรับหวานสำหรับพระสงฆ์ 2,000 รูป ประกอบด้วย ขนมไส้ไก่ ขนมฝอย ขนมผิง กล้วยฉาบ ล่าเตียง หรุ่ม สังขยา ฝอยทอง และขนมตะไล

ขนมผิง
ล่าเตียง

        ในกาพย์ห่อโคลงเห่เรือชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้กล่าวชมเครื่องหวานหรือขนมไทยหลายชนิดด้วยกัน อาทิ ข้าวเหนียวสังขยา ขนมลำเจียก ขนมทองหยอด ขนมผิง ขนมรังไร ขนมช่อม่วง ขนมบัวลอย ฯลฯ

ข้าวเหนียวสังขยา
ขนมลำเจียก

        ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพิมพ์ตำราอาหารออกเผยแพร่ การทำขนมไทยก็เป็นหนึ่งในตำราอาหารไทยนั้น จึงนับได้ว่าการทำขนมไทยและวัฒนธรรมขนมไทย เริ่มมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างมีระเบียบในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง แม่ครัวหัวป่าก์เป็นตำราอาหารไทยเล่มแรก ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงค์ ในตำราอาหารไทยเล่มนี้ปรากฎรายการสำรับของหวานเลี้ยงพระอันประกอบด้วย ขนมทองหยิบ ขนมฝอยทอง ขนมหม้อแกง ขนมหันตรา ขนมถ้วยฟู ข้าวเหนียวแก้ว ขนมลืมกลืน วุ้นผลมะปราง ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าคนไทยนิยมทำขนมให้ในงานบุญ ซึ่งก็เป็นแบบแผนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ขนมหม้อแกง

ขนมถ้วยฟู

อ้างอิง
Administrator. 2552. จังหวัดกรุงเทพมหานคร. (ออนไลน์) แหล่งที่มา :  http://www.school.net.th/schoolnet/article/read.php?article_id=339 . 5 มีนาคม 2552

Horapa. 2553. จังหวัดกรุงเทพมหานคร. (ออนไลน์) แหล่งที่มา : http://www.horapa.com/content.php?Category=Dessert&No=376 . สิงหาคม  2553

ประทีป ทองเปลว. 2544. มงคลขนมไทย. กรุงเทพฯ. ไพลินบุ๊คเน็ต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น